สันติภาพที่จับต้องได้ (Peace in Action): ส่งเสริมการสร้างสันติภาพผ่านภาพถ่ายโดยเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
Click here to read this blog in English.
“พลังความเชื่อและความศรัทธาเป็นหนึ่งสร้างเอกลักษณ์ปาตานี”
วันดีคืนดี เกิดความขัดแย้ง เสาสั่นคลอนแตกแยกออกจากกัน
สิบแปดกว่าปี มีหลากหลายเรื่องราวและข่าวคราว
ความอดทน เสียสละ เพื่อดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์
สถานการณ์ยังดำเนิน เพียงอำนาจนำมาเป็นเครื่องเตือนสติ
โดย: ผุสดี หวันหวัง
จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เป็นดินแดนดั้งเดิมของชาวปาตานี ในฐานะที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในประเทศไทย ชาวมุสลิมปาตานีถูกทำให้เป็นชายขอบในชีวิตทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การขัดขืนรัฐไทยซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าเกิดขึ้นตั้งแต่การผนวกดินแดนเข้ากับสยามในปี พ.ศ. 2445 (หรือประเทศไทยในปัจจุบัน) ส่งผลให้ในปีพ.ศ. 2547 เกิดขบวนการที่ต้องการปกครองตนเอง (แบ่งแยกดินแดน) ซึ่งเปลี่ยนความรุนแรงประปรายให้กลายเป็นความขัดแย้งเต็มรูปแบบ พวกเขาต้องเผชิญกับวิธีการทางทหารจากรัฐบาล อีกทั้งยังต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ใจความสำคัญของความขัดแย้งนี้อยู่ที่การถูกกีดกัน: ชนกลุ่มน้อยถูกกีดกันสิทธิโดยกำเนิดของพวกเขาจากรัฐไทย รวมไปถึงการกีดกันผู้คนในพื้นที่ออกจากกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional – BRN)
ในบริบทนี้ ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อชนกลุ่มน้อยระหว่างประเทศ (Minority Rights Group International – MRG) ได้ทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่เพื่อทำให้กระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ครอบคลุมมากขึ้นและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งดังกล่าวให้มากที่สุด ซึ่ง MRG ได้จัดการฝึกอบรมถ่ายภาพระยะเวลาสามวันเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนใช้พลังของกล้องถ่ายรูปเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกโดยสันติวิธี บันทึกชีวิตประจำวันและความท้าทายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างแรงบันดาลใจในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ
การทำงานร่วมกับ Realframe ซึ่งเป็นกลุ่มช่างภาพข่าวและสารคดีชาวไทยที่มีประสบการณ์ในการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาสังคมและปัญหาสิ่งแวดล้อม การฝึกอบรมนี้ทำให้เยาวชนมีความรู้ด้านเทคนิคเกี่ยวกับการถ่ายภาพข่าวและพลังของภาพถ่าย
ในช่วงเริ่มต้นของการฝึกอบรม MRG และ Realframe ได้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งทางอาวุธและความรุนแรงในพื้นที่ซึ่งเกิดขึ้นยาวนานถึง 19 ปีและความคิดริเริ่มต่างๆ ในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และระดับปัจเจกเพื่อฟื้นฟูสันติภาพ แม้ว่าการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยและ BRN จะดำเนินไปอย่างเชื่องช้า แต่ความคิดริเริ่มสร้างสันติภาพที่นำโดยชุมชนกลับแข็งแกร่ง เพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการสร้างสันติภาพมีความครอบคลุม สิ่งสำคัญคือเยาวชนต้องมีเครื่องมือและพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น ความกังวล และความคาดหวังของพวกเขา เพราะผลลัพธ์ของกระบวนการสันติภาพจะกำหนดอนาคตของพวกเขา
หลังจากการฝึกอบรม เยาวชนได้รับกล้องถ่ายรูปและได้รับมอบหมายให้สร้างชุดภาพถ่ายสารคดีเกี่ยวกับความขัดแย้งและการแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาพถ่ายจะถูกตัดสินโดยคณะกรรมการ และผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาเดินทางต่อไปในเส้นทางการถ่ายภาพ
สามารถอ่านเรื่องราวของผู้ชนะสามอันดับแรกพร้อมรับชมรูปภาพของพวกเขา
ชื่อเรื่อง: ดะอฺวะฮฺ – การเชิญชวนสู่แนวทางที่เที่ยงตรง
โดย: นายมูฮัมหมัดฟาตอน มะเต๊ะ
“ถ้ามีมนุษย์อยู่บนดวงจันทร์ เราก็จะส่งกลุ่มดะอฺวะฮฺไปที่นั่น”
“ดะอฺวะฮฺ” หมายถึง การเรียกร้อง การแสวงหา การเชิญชวน เป็นการวิงวอนหรือเชิญชวนสู่แนวทางของศาสนา คือ การเชิญชวนให้ผู้คนเข้าใจและยอมรับอิสลาม
ช่วงที่กำลังถ่ายภาพของกิจกรรมนี้ ณ มัสยิดแห่งหนึ่งในยะลา มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาหาผมพร้อมกับทักทายด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและเป็นมิตร เขาได้เล่าเรื่องการเผยแผ่ศาสนาด้วยการดะอฺวะฮฺที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการดะอฺวะฮฺ หมายถึง การประพฤติตนไม่ขัดต่อหลักศาสนาไม่สร้างปัญหาแก่สังคม
หลังจากที่ได้พูดคุยกันสักพักใหญ่ๆ จนถึงเวลาที่เราต่างต้องแยกย้าย เขาก็ได้พูดปิดท้ายด้วยประโยคที่ผมคุ้นหูในตอนที่ผมยังเด็ก “คืนนี้มาละหมาดที่มัสยิดด้วยน่ะ คืนนี้มีบรรยายทางศาสนาด้วย” ซึ่งถือเป็นประโยคเชิญชวนให้วัยรุ่นเข้ามาปฏิบัติศาสนากิจในมัสยิดให้มากขึ้น พร้อมอีกประโยคที่ว่า “ถ้ามีมนุษย์อยู่บนดวงจันทร์ เราก็จะส่งกลุ่มดะอฺวะฮฺไปที่นั่น”
ชื่อเรื่อง: ฟุตบอลวิถีอิสลาม
โดย: นางสาวนูรอัยนี สิเดะ
เราสามารถเรียน (ให้ได้เรื่อง) และเล่น (ให้ได้กำลัง) พร้อมกันได้ โดยทั้งสองอย่างนี้จะสนับสนุนซึ่งกันและกัน
ฉันได้มีโอกาสรู้จักกับทีมฟุตบอลทีมหนึ่งในพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีโรงเรียนกลางหุบเขา ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติ ซึ่งทางโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนโปรแกรมกีฬารวมกับอิสลามศึกษา
ฟุตบอลวิถีอิสลาม ต่างจากฟุตบอลทั่วไป คือ นักเรียนกีฬา (นักฟุตบอลทีมนี้) ต้องมีวินัยโดยเอาหลักการศาสนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการฝึก นักเรียนกีฬาต้องเรียนอัลกุรอาน และด้วยความที่โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำ จึงจะมีการเรียนการสอนศาสนาในภาคค่ำ นักเรียนกีฬาทีมนี้ยังต้องทำการละหมาดใน 5 เวลาต่อวันอย่างเคร่งครัด แม้จะมีการแข่งขันในช่วงใกล้เวลาสำคัญนี้ก็ตาม นักเรียนกีฬาทีมนี้จะสวมใส่กางเกงยืดรัดขาก่อนที่จะสวมกางเกงฟุตบอลขาสั้น พวกเขาต้องแต่งตัวให้ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งต้องปกปิดตั้งแต่สะดือจนถึงหัวเขา
ภาพถ่ายชุดนี้ เป็นภาพถ่ายที่ฉันต้องการสื่อสารถึงการที่มีฟุตบอลวิถีอิสลามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิต ซึ่งเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ความสุข ความมีน้ำใจ การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แม้ว่าผู้เล่นในสนามจะมีความแตกต่าง ทั้งความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี เมื่อการแข่งขันเสร็จสิ้น นักกีฬาทุกคนสามารถกอดคอ พูดคุยกันได้อย่างเป็นมิตร ฉันอยากเป็นกระบอกเสียงให้คนอื่นๆ สามารถรับรู้ความสงบสุขนี้ ที่คนในพื้นที่ร่วมกันสร้างขึ้น
ชื่อเรื่อง: ห้วงเวลา – ผู้หญิงในชายแดนใต้ (ของประเทศไทย)
โดย: ผุสดี หวันหวัง
รูปถ่ายชุดนี้จะสะท้อนถึงห้วงเวลา (Turn Time) ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยนำเสนอในรูปแบบ Conceptual Portrait หรือการแสดงออกในรูปแบบสัญลักษณ์ผ่านตัวละครและสถานที่ที่สมมติขึ้นมา ฉันได้แรงบันดาลใจจากการกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับการเยียวยากลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่
เป็นเวลาหลายปีที่มีความพยายามในการสร้างกระบวนการพูดคุยสันติภาพ แต่กระบวนการดังกล่าวยังไม่มีพื้นที่สำหรับผู้หญิงในการมีส่วนร่วม การสูญเสียครอบครัวอันเป็นที่รัก (โดยเฉพาะสามีหรือพ่อ) จากสถานการณ์ความไม่สงบ ส่งผลให้ผู้หญิงหลายคน หลายครอบครัวต้องดิ้นรนต่อสู้ ปกป้องครอบครัว รวมทั้งเรียกร้องความยุติธรรมจากหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อการสูญเสียดังกล่าว
ฉันอยากให้คนที่ได้มีโอกาสได้รับชมภาพถ่ายชุดนี้เห็นถึงความสำคัญของการมีพื้นที่พูดคุยถึงเรื่องราวเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และการมีพื้นที่สำหรับผู้หญิงในการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ
Minority Rights Group กำลังเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอบรมถ่ายภาพ ซึ่งจัดขึ้นในจังหวัดปัตตานี โดยจะปิดรับสมัครในวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 หากสนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่
—
รูปถ่าย: ชายสองคนอ่านอัลกุรอานที่มัสยิดในยะลา ประเทศไทย เครดิต: นายมูฮัมหมัดฟาตอน มะเต๊ะ
ลงทะเบียนเพื่อรับจดหมายข่าวของเรา เพื่อรับข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยและชนพื้นเมืองจากทั่วโลก