สันติภาพที่จับต้องได้ (Peace in Action): การสร้างสันติภาพผ่านภาพถ่าย โดยเยาวชนจังหวัดชายแดนใต้ของไทย รุ่นที่สอง
เรื่องราวแห่งความสันติ
เยาวชนต้องมีเครื่องมือและพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น ความกังวล และความคาดหวังของตนเอง เพราะผลลัพธ์ของกระบวนการสันติภาพจะกำหนดอนาคตของพวกเขา อ่านต่อไปเพื่อสัมผัสชีวิตในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยในมุมมองของเยาวชนในภูมิภาค
- 01
การแนะนำ
เราเป็นคน-คนทั้งผองของที่นี่ แต่บางที “เราเป็นคนของที่ไหน?” ทั่วประเทศเขตคาม1…
4 min read
- 02
นูร์ (แสงสว่าง) – วิถีชีวิตเด็กปอเนาะ
“ท่ามกลางความมืดมนจากสิ่งอบายมุกที่คลืบคลานเข้ามาในชุมชนและความวุ่นวายจากสังคมที่�…
1 min read
- 03
งานแต่งงานของชาวมุสลิม – เรื่องราวของคนเบื้องหลัง
ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้…
5 min read
- 04
เด็กเลี้ยงวัว – การศึกษาราคาแพง
ใครว่าประเทศนี้เทียมเท่า นั่นความจริงใดเล่า ทะลักไหล ความสูงต่ำต่างแตกแยกทางไป …
4 min read
- 05
ตลาดเช้า – พื้นที่ทำกินของผู้หญิงชายแดนใต้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทย (หรือแม้กระทั่งทั่วโลก) จะมีตลาด…
5 min read
- 06
ชาวเล – วิถีชีวิตท่ามกลางคลื่นทะเล.
ทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ตั้งของชนเผ่าพื้นเมืองที่เดินเรือหลากหลายกลุ่ม…
5 min read
-
เราเป็นคน-คนทั้งผองของที่นี่ แต่บางที “เราเป็นคนของที่ไหน?”
ทั่วประเทศเขตคาม1 “เราเป็นใคร?” ฝ่าเปลวทุกข์ยุคสมัยอันมืดมน
เราเป็นคน-คนทั้งผองของที่นี่ แต่บางที “เราเป็นคนของที่ไหน?”
ทั่วประเทศเขตคาม “เราเป็นใคร?” จะตายเป็นเช่นไร ใครรับรู้
— อภิชาติ จันทร์แดง. (2553). ประเทศของเราและเรื่องเล่าหลายๆ เรื่อง. ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์: สำนักพิมพ์ชายขอบ. หน้า 21 – 22
อัตลักษณ์ที่เด่นชัดเมื่อพูดถึงจังหวัดชายแดนใต้ คือ ความเป็นมลายู ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายด้วยชุดมลายู การสื่อสาร (พูด) ด้วยภาษามาเลท้องถิ่น และ (เขียน) ด้วยภาษายาวี การที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งล้อมรอบด้วยศาสนสถานและผู้คนสามารถปฏิบัติศาสนกิจในที่สาธารณะได้ เหล่านี้ หากมองจากมุมมองของคนส่วนใหญ่ในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้กลายเป็นคนส่วนน้อยหรือชนกลุ่มน้อย (minority) ในประเทศไทย
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส รวมถึงสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา เป็นดินแดนดั้งเดิมของชาวมุสลิมที่พูดภาษามลายูปัตตานีซึ่งสืบเชื้อสายมาจากรัฐปาตานีซึ่งมีมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 1943 ถึง พ.ศ. 2445 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่ารัฐปาตานีได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ (ต่อมาเรียกว่าสยาม)
ต่อมา รัฐปาตานีได้ถูกแบ่งออกเป็นจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา หลังปี พ.ศ. 2481 ทางการไทยได้ใช้นโยบายบังคับให้มีการใช้ชื่อไทยและการผสมกลมกลืนของชนกลุ่มน้อยมาเลย์โดยกำหนดให้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการในทุกโรงเรียนและหน่วยงานของรัฐ
การตอบสนองต่อนโยบายการเลือกปฏิบัติเหล่านี้ ทำให้เกิดเหตุการณ์ก่อความไม่สงบต่อรัฐไทยครั้งแรกเมื่อทศวรรษที่ 1930 เป็นต้นไป แฏิบัติการของขบวนการนี้ในปี 2547 ได้เปลี่ยนความรุนแรงจนกลายเป็นความขัดแย้งเต็มรูปแบบ และต้องเผชิญกับแนวทางทางทหารที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลไทย
หัวใจสำคัญของความขัดแย้งนี้คือการกีดกัน: การกีดกันของรัฐไทยต่อชนกลุ่มน้อยจากสิทธิิิขั้นพื้นฐานของพวกเขา รวมถึงการกีดกันสังคมท้องถิ่นจากกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างรัฐบาลไทยและผขบวนการ Barisan Revolusi Nasional (BRN) หรือ ‘ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี’
ประเด็นสำคัญของความขัดแย้งคืออัตลักษณ์ แม้ยังไม่อาจทราบได้ว่าปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และหลายภาคส่วนต่างทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถโดยต่อเนื่อง เพื่อที่จะคลี่คลาย แก้ไข เยียวยา และหาทางออกให้กับปัญหาในทุกๆ ด้าน5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวจะต้องมีเครื่องมือและพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น ข้อกังวล และความคาดหวัง เพราะผลของกระบวนการสันติภาพจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของพวกเขา
ในบริบทนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชนเพื่อชนกลุ่มน้อยระหว่างประเทศ (Minority Rights Group – MRG) ได้ทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ในการส่งเสริม เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิชนกลุ่มน้อย การเข้าไปมีส่วนร่วมและทำให้กระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งดังกล่าวให้มากที่สุด
ในปี 2566 เราได้จัดอบรมการถ่ายภาพเป็นเวาลสามวัน ซึ่งเป็นการจัดอบรมครั้งที่สองเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในพื้นที่ใช้พลังของกล้องถ่ายรูปและภาพถ่าย เป็นหนึ่งในรูปแบบและเครื่องมือในการแสดงออกโดยสันติวิธีและไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อบันทึกชีวิตประจำวันและความท้าทายที่กำลังดำเนินอยู่ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ
การทำงานร่วมกับ Realframe ซึ่งเป็นกลุ่มช่างภาพข่าวและสารคดีชาวไทยที่มีประสบการณ์ในการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาสังคม การเมืองและปัญหาสิ่งแวดล้อม การฝึกอบรมดังกล่าวทำให้เยาวชนมีความรู้ทางเทคนิคเกี่ยวกับการถ่ายภาพข่าวและพลังของภาพถ่าย
ตลอดช่วงของการฝึกอบรม MRG และ Realframe ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสะท้อนข้อกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางอาวุธและความรุนแรงในพื้นที่ที่เกิดขึ้นยาวนานถึง 20 ปี ซึ่งยาวนานเท่าหรือมากกว่าอายุของผู้เข้าร่วมบางคน
ระหว่างการอบรม ผู้เข้าร่วมทุกคนได้มีโอกาสลงพื้นที่ชุมชนเพื่อพูดคุยกับคนในชุมชน พร้อมทั้งถ่ายภาพเพื่อเล่าเรื่องสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน ณ เวลานั้น เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้ และเชื่อมโยงถึงกระบวนการสร้างสันติภาพที่ครอบคลุมและมีส่วนร่วม สิ่งที่ MRG ให้ความสำคัญคือ เยาวชนต้องมีเครื่องมือและพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น ความกังวล และความคาดหวังของพวกเขา เพราะผลลัพธ์ของกระบวนการสันติภาพจะกำหนดอนาคตของพวกเขา
หลังจากการฝึกอบรม ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับกล้องถ่ายรูปและได้รับมอบหมายให้สร้างชุดภาพถ่ายสารคดีเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ สภาพสังคม ความขัดแย้งและการแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาพถ่ายจะถูกตัดสินโดยคณะกรรมการ และผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาเดินทางต่อไปในเส้นทางการถ่ายภาพ
สามารถอ่านเรื่องราวของผู้เข้าร่วมที่ได้รับรางวัล พร้อมรับชมรูปภาพของพวกเขา
ในปี 2567 ทาง MRG ก็ได้จัดการอบรมถ่ายภาพ ซึ่งเป็นการอบรมครั้งที่สามและได้จัดขึ้นในจังหวัดปัตตานี สามารถติดตามและรับชมภาพถ่ายของผู้ชนะการประกวดประจำปีนี้และผู้ชนะประจำปี 2565 ได้ที่นี่
โดย นฤมล เจริญ ผู้ช่วยฝ่ายโครงการประเทศไทย กลุ่มสิทธิมนุษยชนชนกลุ่มน้อย
-
“ท่ามกลางความมืดมนจากสิ่งอบายมุกที่คลืบคลานเข้ามาในชุมชนและความวุ่นวายจากสังคมที่ทำให้เยาวชนห่างไกลจากศาสนา เด็กปอเนาะถือเป็นไฟแห่งความดีและความรอบรู้ในเรื่องศาสนาที่คอยส่องแสงสว่างให้กับชุมชน นำทางให้คนในชุมชนเข้าสู่หนทางแห่งศาสนามากขึ้น”
— นายือรี อาแวกือจิ
บรรยากาศของการเรียนการสอนของสถาบันปอเนาะ ดารุลกุรอ่าน ฮัจ.อิสมาอีลี บาตูกาเญาะ 1 ในจังหวัดนราธิวาส เครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
คำว่าปอเนาะ (ภาษามลายูปัตตานี เพี้ยนจากคำว่า pondok “ปนโดะก์” ในภาษามลายูกลาง ยืมมาจากภาษาอาหรับ فندق “ฟุนดุก” แปลว่า โรงแรม) หมายถึงสำนักหรือโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่มีหอพักนักเรียนอยู่ในบริเวณสำนัก ในประเทศไทย ส่วนใหญ่เราจะพบเจอปอเนาะ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เด็กปอเนาะจะเริ่มใช้ชีวิตตั้งแต่ตีสาม เพื่อทำการละหมาดตะฮัจญุด อ่านอัล-กุรอาน จนกระทั่งถึงเวลาละหมาดย่ำรุ่ง (ศุบฮิ) และจะใช้เวลาในการเรียนศาสนา ปฏิบัติศาสนกิจอื่นๆ พักผ่อนตามอัธยาศัย ซึ่งทางปอเนาะจะกำหนดกฎระเบียบที่ชัดเจน ทำให้เด็กปอเนาะทุกคนใช้ชีวิตตามระเบียบและอยู่ในร่องในรอย
บรรยากาศของการเรียนการสอนของสถาบันปอเนาะ ดารุลกุรอ่าน ฮัจ.อิสมาอีลี บาตูกาเญาะ 1 ในจังหวัดนราธิวาส เครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
ผ่านภาพถ่ายชุดนี้ ผมอยากสื่อสารเกี่ยวกับวิถีชีวิตของเด็กปอเนาะ การศึกษา การเรียนรู้ด้วยตัวเอง การฝึกฝนการเอาตัวรอด การพึ่งพาตนเอง และการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ปอเนาะคือการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของชาวมาเลย์มุสลิม โดยเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และวิถีชีวิตตามแบบอย่างของอิสลาม
หลังจากเรียนเสร็จ เด็กปอเนาจะรวมตัวกันเพื่อเตรียมอาหารและทานอาหารพร้อมกัน เครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
หลังจากที่รับรู้ว่าหลังจากจบการอบรมถ่ายภาพ ผู้เข้าร่วมทุกคนต้องกลับไปทำ “การบ้าน” โดยให้คิดหัวข้อของการบ้านที่ต้องการทำหรือสนใจอยากจะทำ โดยวิทยกรและผู้จัดให้อิสระเต็มที่ในการเลือกหัวข้อ ผมได้ใช้เวลาขบคิดถึงงหัวข้อของการบ้านที่สนใจ และตกผลึกได้ว่า ในเมื่อผมเคยเรียนปอเนาะมาก่อนและยังมีเพื่อนในปอเนาะที่ยังเรียนอยู่ ทำไมผมไม่ทำเรื่องวิถีชีวิตเด็กปอเนาะ?
เด็กปอเนาะถือหนังสือที่ใช้สำหรับเข้าเรียน เครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
ผมได้กลับไปยังปอเนาะที่ผมเคยเรียน ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนราธิวาส ได้กลับไปหาหาเพื่อนๆ รุ่นน้อง รวมถึงครูบาอาจารย์ที่เคยสอนผม พวกเขาต้อนรับผมด้วยรอยยิ้มที่เป็นมิตรและอบอุ่นเช่นเคย
หอพักของเด็กปอเนาะ ของสถาบันปอเนาะ ดารุลกุรอ่าน ฮัจ.อิสมาอีลี บาตูกาเญาะ 1 ในจังหวัดนราธิวาส เครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
การสนทนาของเราเป็นไปอย่างราบรื่นและชวนให้คิดถึง ผมได้เล่าเรื่องการอบรมถ่ายภาพให้พวกเขาฟัง ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวในช่วงชีวิตที่ผ่านมากับพวกเขา รวมถึงได้ย้อนความหลังที่เคยได้เรียน ณ ที่แห่งนี้ ที่ปอเนาะ การเรียนการสอนจะเป็นภาษาอาหรับหรือมลายู จากการประเมินพบว่านักเรียนมาเลย์-มุสลิมในประเทศไทยมากถึงร้อยละ 85 เข้าโรงเรียนอิสลามมากกว่าโรงเรียนของรัฐ
หลังจากเตรียมอาหารเสร็จ ก็จะทานอาหารพร้อมกัน เครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
หลังจากได้พูดคุยสักระยะ ผมเลยขออนุญาตพวกเขาถ่ายภาพการใช้ชีวิตตามประสาเด็กปอเนาะ ซึ่งพวกเขาให้ความร่วมมือกับผมเป็นอย่างดี
เพื่อนๆ ในปอเนาะที่พักอยู่หอพักเดียวกันช่วยกันเตรียมอาหารเพื่อทางอาหารร่วมกัน เครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
หนังสือและสมุดจดที่เด็กปอเนาะใช้เพื่อทบทวนบทเรียน เครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
หลังเรียนเสร็จ เด็กปอเนาจะกลับเข้าที่พักเพื่อพักผ่อนเครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
เมนูอาหารง่ายๆ ที่ร่วมกันเตรียมและทานอาหารพร้อมกันเครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
เด็กปอเนาะใช้เวลาว่างที่หอพักทบทวนบทเรียนที่ได้เรียนในแต่ละวัน กันเครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
เด็กปอเนาะเตรียมตัวไปเรียน กันเครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
ระหว่างช่วงเวลาพัก เด็กปอเนาะก็จะใช้เวลาอย่างคุ้มค่าในการทบทวนบทเรียนและท่องจำ กันเครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
เตรียมหนังสือ สมุดจดเพื่อเข้าเรียน กันเครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
พักสายตาระหว่างทบทวนบทเรียนในหอพัก กันเครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
หลังทบทวนบทเรียนพอสมควร ก็ถึงเวลาพักผ่อนเพื่อเตรียมร่างกายและจิตใจ กันเครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
อาบน้ำ เตรียมตัวเพื่อไปละหมาด กันเครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
ต่างคนต่างก็อาบน้ำ แต่งตัว เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการละหมาดร่วมกัน กันเครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
บรรยากาศการเรียนหลังจากละหมาดรวมเสร็จสิ้น กันเครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
บรรยากาศรอบๆ และสภาพของหอพักที่เด็กปอเนาะใช้พักผ่อน เครดิต: นายือรี อาแวกือจิ
โดย: นายือรี อาแวกือจิ
รางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง -
ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บ่อยครั้งเรามักพบเห็นคนในหมู่บ้านหรือชุมชนรวมตัวกันเพื่อช่วยงานครัวในงานแต่งงานของคนให้หมูบ้านหรือชุมชนเดียวกัน เราเห็นคนครัวเหล่านี้ในงานแต่งงาน แต่ไม่เคยได้รู้เบื้องหลังและเรื่องราวของคนเหล่านั้น ครั้งนี้ จะขอพาทุกท่านไปสัมผัสกับเรื่องราวเบื้องหลังและบรรยากาศการทำงานครัวในงานแต่งงานของชาวมุสลิมผ่านภาพถ่ายชุดนี้
ก๊ะ (หมายถึงพี่สาวหรือผู้หญิงที่อายุเยอะกว่า) รวมตัวกันเพื่อช่วยงานครัวในงานแต่งงานของคนในหมู่บ้าน ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
โดยปกติ ผู้ชายจะเป็นคนเตรียมวัตถุดิบที่เป็นเนื้อสัตว์ แต่บางครั้งผู้หญิงก็ต้องทำหน้าที่เหล่านั้น เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
สมัยก่อน คนมีฐานะจะเชือดวัวเพื่อจัดงานแต่งงานและจะเรียกคนในหมู่บ้านหรือชุมชนมาจัดการกับวัวที่เชือด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย เนื่องจากต้องใช้กำลังอย่างมาก เจ้าภาพจะตอบแทนคนชำแหละวัวเป็นบุหรี่ น้ำดื่มชูกำลัง บางครั้งจะเลี้ยงฉลองโดยการต้มเครื่องในวัวกินตอนกลางคืน สมัยนี้อาจมีให้เห็นอยู่บ้างตามพื้นที่ชนบท แต่แทบไม่ค่อยเห็นบรรยากาศนั้นในตัวเมืองเท่าไหร่นัก
กลุ่มก๊ะกำลังช่วยกันเตรียมผักเพื่อทำอาหารสำหรับงานแต่งงาน เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
คนทำงานครัวในงานแต่งงานของคนมุสลิม มีสองแบบ คือแบบช่วยหรือจิตอาสา และแบบรับจ้าง สำหรับผู้หญิงที่มาช่วยงานครัวในงานแต่งงานในชุมชน เจ้าภาพจะมีค่าตอบแทนเป็นผ้าโสร่ง ผ้าคลุม หรือไม่ก็ให้แกงกลับไปกินที่บ้าน ส่วนใหญ่ก็จะได้กันทุกคนที่มาช่วยงาน บางคนก็จะอยู่ที่งานแต่งทั้งวันเพื่อช่วยงาน บางคนก็มาสองวัน ในส่วนที่มาก่อนวันงาน เนื่องจากต้องทำน้ำมันอ่อนก่อนทำแกง เคี้ยวจนเข้มข้นเพื่อตักใส่ในแกงเนื้อ ส่วนคนที่มาหลังวันงาน ก็จะมาช่วยล้างจาน หม้อ กระทะ และทำความสะอาดพื้นที่จัดงานให้
กลุ่มก๊ะที่ถูกแบ่งหน้าที่และรับผิดชอบในการทำข้าวเหนียวแดง ซึ่งจะถูกเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารในงานแต่งงาน เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
งานครัวในงานแต่งงานอาจดูเป็นงานง่าย แต่ถือเป็นงานที่เหนื่อย ต้องมีการแบ่งหน้าที่ เช่น ขูดมะพร้าว คั้นกะทิ ทอดปลาแห้ง หุงข้าว ทำน้ำหวาน ทำปูโละ (ข้าวเหนียวแดง) จัดเรียงอาหาร เสริฟ์อาหาร ดูแลเรื่องอาหารว่างโดยเฉพาะ
บรรยากาศของครัวเปิดสำหรับประกอบอาหารเพื่อเลี้ยงแขกในงานแต่งงาน โดยปกติครัวเปิดจะถูกจัดขึ้นหลังบ้านของเจ้าสาว เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
จำนวนคนทำงาน ก็จะขึ้นอยู่กับความใหญ่ของงานแต่งด้วย โดยหลักแล้วจะเสริฟ์เป็นสามช่วงเวลา คือ เช้า เที่ยง เย็น แต่ทั้งนี้ก็มีการกินเลี้ยงเรื่อยๆ เนื่องจากคนที่มางานแต่งงาน จะมาตั้งแต่เช้าและจะลากยาวจนถึงค่ำก็มี
พื้นที่สำหรับทำความสะอาดเครื่องครัวต่างๆ เป็นจุดสำหรับล้างถ้วย จาน ชามและแก้วที่มีจำกัด เพื่อให้สามารถใช้ได้ตลอดจนกว่าจะจบงาน เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
หากไม่มีการแบ่งหน้าที่ที่ชัดเจน จะทำให้การทำงานดังกล่าวติดขัดและไม่ราบรื่น ซึ่งจะส่งผลต่อความประทับใจคนที่เขามายินดีกับคู่บ่าวสาวในงานแต่ง ดังนั้นคนครัวจึงเป็นส่วนที่สำคัญอย่างมากในงานแต่งงาน
แม่ครัวกำลังปรุงซุปเนื้อ (วัว) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่จะเสิร์ฟในงานแต่งงาน เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
เหล่านี้ เป็นเรื่องราวและข้อมูลที่ได้รับมาจากการลงพื้นที่ถ่ายภาพซึ่งเป็น “การบ้าน” จากการเข้าร่วมอบรมถ่ายภาพของ MRG ปัจจุบัน ส่วนใหญ่คนจะจัดงานแต่งที่ร้านอาหาร เพื่อจะได้ไม่ต้องเหนื่อยกับการเตรียมอาหารหรือการเก็บกวาดหลังงานจบ
กลุ่มก๊ะกำลังใส่ข้าวสวยในถุง เพื่อง่ายต่อการเสิร์ฟให้กับแขกที่มาเข้าร่วมงาน และแขกสามารถใส่ข้าวตามที่ต้องการได้เอง เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
พื้นที่สำหรับล้างช้อน ส้อม เพื่อให้แขกสามารถหยิบจับ หรือเอาช้อน ส้อมที่สะอาดไปใช้ได้ ซึ่งจะมีคนที่คอยล้างช้อน ส้อมประจำที่นี้ เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
อีกหนึ่งบรรยากาศของครัวเปิดสำหรับประกอบอาหารเพื่อเลี้ยงแขกในงานแต่งงาน ซึ่งจะมีทั้งผู้ชายและผู้หญิงคอยดูแลเรื่องอาหารที่จะเสิร์ให้แขกในงานแต่งงาน เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
พื้นที่สำหรับเตรียมน้ำและผลไม้ที่จะเสิร์ฟให้แขกที่เข้าร่วมงานแต่งงาน เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
แม่ครัวกำลังเคี่ยวมัสมั่นเนื้อ (วัว) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมนูอาหารหลักที่จะเสิร์ฟในงานแต่งงาน เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
พื้นที่ของครัวเปิดสำหรับเตรียมข้าวสวยโดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถเสิร์ฟให้แขกได้อย่างไม่ขาดช่วง เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
กลุ่มผู้ชายกำลังเตรียมทำอาหาร เป็นหนึ่งในวิธีการอบอาหาร โดยการอาหารที่ต้องการอบเป็นชั้นๆ และใช้กะทะขนาดใหญ่เป็นฐาน ก่อไฟใต้กะทะ และความร้อนก็จะถูกส่งต่อขึ้นไปแต่ละชั้น ซึ่งความร้อนดังกล่าวจะไม่กระจายไปรอบข้าง เนื่องจากมีถังที่แขวนอยู่ข้างบนเป็นตัวดึงความร้อนไว้ เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
It is often necessary to use coconut milk as the main ingredient in food, so most weddings have a space for scraping coconuts to make coconut milk to be used in cooking. Credit: Waeasmee Waemanor.
ในการทำมัสมั่นหรืออาหารบางชนิด จำเป็นต้องใช้กะทิเป็นส่วนประกิบหลัก ทำให้งานแต่งส่วนใหญ่มีพื้นที่สำหรับขูดมะพร้าวเพื่อคั้นเป็นน้ำกะทิ ซึ่งจะใช้ในการประกอบอาหาร เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
ทีมเสิร์ฟอาหาร ซึ่งผู้จัดงานมักจะจ้างวัยรุ่นชายมาทำหน้าที่นี้ และมักจะมีเสื้อทีมเพื่อให้ง่ายต่อแขกที่มาร่วมงานในการขอให้เสิร์ฟอาหาร เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
แม่ครัวกำลังทำและปรุงซุปเนื้อ (วัว) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่จะเสิร์ฟในงานแต่งงาน ซึ่งต้องทำเตรียมไว้หลายๆ กระทะ เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
พื้นที่ของเครื่องเคียง เช่น ผัก น้ำพริกะปิ และข้าวหมัก ที่มักจะเสิร์ฟพร้อมกับอาหารอื่นๆ เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
พื้นที่ล้างจาน ถ้วย ชาม หลังจากที่แขกรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ทีมเสิร์ฟอาหารจะทำการเคลียร์และทำความสะอาดโต๊ะ เพื่อให้แขกกลุ่มอื่นได้นั่งต่อไปได้ และจาน ชานเหล่านั้นจะถูกส่งต่อให้ทีมล้างจานเพื่อทำความสะอาดต่อไป เครดิต: แวอัสมีร์ แวมะนอ
โดย: แวอัสมีร์ แวมะนอ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง -
ใครว่าประเทศนี้เทียมเท่า นั่นความจริงใดเล่า ทะลักไหล
ความสูงต่ำต่างแตกแยกทางไป เหวี่ยงตวัดกวัดไกวในคลื่นเกลียว*
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง และติดอันดับจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ 10 อันดับแรก ต่อเนื่องยาวนานเกินกว่า 16 ปี เศรษฐกิจปากท้องในพื้นที่เป็นปัญหาระดับโครงสร้าง เนื่องจากไม่มีตลาดแรงงานที่ใหญ่พอจะรองรับคนรุ่นใหม่ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีชีวิตรอด เช่นเดียวกับเกษตรกรรมในภูมิภาคอื่นของประเทศ
เด็กชายกำลังจูงวัวเพื่อไปกินหญ้า ในช่วงเวลาที่ปกติเด็กๆ ต้องไปโรงเรียน เครดิต: อิฟฟาน ยูโซะ
ถึงเวลาที่เด็กชายต้องทำงาน จึงมาหาวัวที่คอกเพื่อพาวัวไปกินหญ้าและเดินเล่นชมหมู่บ้าน เครดิต: อิฟฟาน ยูโซะ
ด้วยเหตุจากการขาดรายได้ ทำให้หลายครัวเรือนต้องประสบปัญหาการขาดแคลนปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต คุณภาพชีวิตเสื่อมโทรม ใช้ชีวิตในแต่ละวันเพื่อเอาตัวรอด หลายครัวเรือนจึงมองข้ามความสำคัญของการ ศึกษาของบุตรหลานตนเอง
เงาสะท้อนของเด็กชายบนผนังบ้านของชาวบ้านในละแวกที่เด็กชายลากวัวไปเดินเล่นและให้อาหาร เครดิต: อิฟฟาน ยูโซะ
เด็กชายกำลังลากวัวออกจากคอกเพื่อไปเดินเล่นยามสายๆ ของวัน ไปกินหญ้าและชมวิวของหมู่บ้าน เครดิต: อิฟฟาน ยูโซะ
เพราะแม้จะมีโครงการเรียนฟรี 15 ปีให้กับคนไทยทุกคนตั้งแต่อนุบาลจนกระทั่งมัธยมปลาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย ทำให้บางครอบครัวตัดสินใจที่จะไม่ส่งบุตรหลานของตนเองเข้าเรียน หรือแม้กระทั่งเด็กที่ได้เข้าเรียนแล้ว มักเลือกที่จะออกจากระบบการศึกษา เพราะมองว่าการที่ตนได้เรียนหนังสือ มาจากการเสียสละและการทำงานหนักของผู้ปกครอง ซึ่งถ้าตนไม่เรียนหนังสือ ตนก็จะสามารถช่วยผู้ปกครองหารายได้แก่ครอบครัวได้
การได้มองดูชีวิตของวัว ทำให้เด็กชายมีเวลาคิด มีสมาธิ และถือเป็นการอยู่กับตัวเอง ณ ช่วงขณะหนึ่งของวัน เครดิต: อิฟฟาน ยูโซะ
ด้วยเหตุนี้ ในพื้นที่สามจังหวัดฯ เราจึงมักเห็นเด็กๆ อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ควรอยู่ในช่วงเวลาที่ปกติต้องไปโรงเรียน เช่น เด็กที่ผมบังเอิญเจอช่วงลงพื้นที่ถ่ายภาพช่วงที่ผมเข้าร่วมอบรมถ่ายภาพ ซึ่งจัดโดย MRG ร่วมกับ Realframe
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สถานการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงในพื้นที่ี่ซึ่งดำเนินมาตลอด 19 ปีที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งหรืออาจจะเป็นใจความสำคัญที่ส่งผลต่อความถดถอยของระบบเศรษฐกิจและระบบกา รศึกษาในพื้นที่ก็เป็นได้ ผมจึงเลือกที่จะทำการบ้านเกี่ยวกับเด็กชายคนนั้น โดยมองถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง
ผูกวัวกับคอกไว้ เพื่อไม่ให้วัวเดินไปทั่วในขณะที่เด็กชายไม่ได้ดูแลวัว เนื่องจากหมดเวลาทำงานแล้ว เครดิต: อิฟฟาน ยูโซะ
เรื่องราวต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวของเด็กชายที่ผมบังเอิญเจอจากการอบรมถ่ายภาพ ตอนแรกผมเจอน้องเขาในวันเสาร์ช่วงบ่าย ซึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้ถือว่าวันเสาร์ หรือวันอาทิตย์เป็นวันหยุดของโรงเรียน เพราะเด็กๆ ก็ต้องไปเรียนตาดีกา แต่ในกรณีนี้ ก็จะมีบางพื้นที่ที่เรียนตาดีกาในช่วงเวลาวันจันทร์-วันศุกร์ หลังจากเลิกเรียนสามัญเสร็จ ผมจึงไม่ค่อยรู้สึกถึงความผิดปกติ
เด็กชายกำลังตรวจความเรียบร้อยหลังจากพาวัวกลับเข้าคอก เครดิต: อิฟฟาน ยูโซะ
วิธีการลากวัวแบบคนเท่ห์ จริงๆ แล้วก็เป็นวิธีที่จะช่วยให้ไม่ต้องออกแรงเยอะในการลากวัว เครดิต: อิฟฟาน ยูโซะ
แต่หลังจากนั้น ผมได้ไปเจอน้องเขาอีกครั้งในวันพุธหรือพฤหัส (ผมจำไม่ได้แล้วเหมือนกัน แต่จำได้ว่าเป็นวันที่เด็กเขาไปเรียนสามัญกัน) ผมเลยสงสัยว่าทำไม น้องเขาถึงไม่ไปเรียนหนังสือ ดังนั้นแล้ว ผมจึงเข้าไปทักน้องและนั่งคุยกับน้องเขา และได้รับรู้ว่า ครอบครัวของน้องมีฐานะค่อนข้างยากจน
การได้มองดูชีวิตของวัว ทำให้เด็กชายมีเวลาคิด มีสมาธิ และถือเป็นการอยู่กับตัวเอง ณ ช่วงขณะหนึ่งของวัน เครดิต: อิฟฟาน ยูโซะ
รายได้ที่ครอบครัวได้มาในแต่ละวันไม่พอกับจำนวนสมาชิกครอบครัวที่มีอยู่ น้องเขาเลยตัดสินใจออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยครอบครัวหาเลี้ยงชีพ รวมถึงจะได้ช่วยให้ครอบครัวประหยัดในส่วนของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเรียนของเขาด้วย น้องเขาเลยรับจ้างเลี้ยงวัว
ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามักจะเห็นวัวและสัตว์อื่นๆ เช่น แพะ แกะ เดินบนถนนเป็นเรื่องปกติ ภาพที่เด็กชายกำลังลากวัวเดินบนถนนจึงเป็นภาพที่คนในพื้นที่คุ้นชิน เครดิต: อิฟฟาน ยูโซะ
หน้าที่ที่น้องต้องทำคือ พาวัวไปกินหญ้า ดื่มน้ำ พาวัวเดินและพาวัวเข้าคอกเมื่อตะวันใกล้ตกดิน ซึ่งน้องเขาต้องทำแบบนี้ทุกวัน เลยทำให้ผมสามารถเจอน้องเขาได้แทบทุกวัน แม้วันนั้จะเป็นวันที่เด็ก (เกือบ) ทุกคนไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือก็ตาม
ใบหน้าที่เต็มไปด้วยหยาดเหงื่อของเด็กชายที่ทั้งวันต้องคอยดูแลวัว ทั้งให้อาหาร น้ำดื่มและพากลับเข้าคอก เครดิต: อิฟฟาน ยูโซะ
โพสต์ท่าหล่อๆ เพื่อให้พี่เขาได้ถ่ายภาพผมหน่อย เครดิต: อิฟฟาน ยูโซะ
เด็กชายกำลังลากวัวที่ตนเองต้องดูแลให้ข้ามถนนเพื่อกลับเข้าคอกก่อนที่ตะวันจะตกดิน เครดิต: อิฟฟาน ยูโซะ
เตรียมปิดคอกไม่ให้วัวออกจากคอก พร้อมไปเล่นกับเพื่อนและกลับบ้านหลังจากที่รับจ้างดูแลวัวทั้งวัน เครดิต: อิฟฟาน ยูโซะ
เมื่อเสร็จภารกิจในการรับจ้างดูแลวัวแล้ว ก็ถึงเวลาเล่นกับเพื่อนๆ ซึ่งการละเล่นที่ได้รับความนิยมในช่วงที่ลมทะเลเป็นใจ คือการเล่นว่าว เด็กชายกำลังจะไปเล่นว่าวกับเพื่อนด้วยใบหน้าที่เปื้อนด้วยรอยยิ้ม เครดิต: อิฟฟาน ยูโซะ
* อภิชาติ จันทร์แดง. (2553). ประเทศของเราและเรื่องเล่าหลายๆ เรื่อง. ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์: สำนักพิมพ์ชายขอบ. หน้า 41
โดย: อิฟฟาน ยูโซะ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง -
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทย (หรือแม้กระทั่งทั่วโลก) จะมีตลาด ซึ่งเป็นพื้นที่กลางสำหรับชาวบ้าน ชาวเมืองมาจับจ่าย ใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคและปัจจัยสี่เพื่อดำรงชีวิต โดยเฉพาะอาหาร ทั้งคาว หวาน อาหารสด แห้ง หรือแม้กระทั่งอาหารแปรรูป ล้วนแล้วแต่หาซื้อได้ในตลาด อีกทั้งสินค้าเหล่านี้ในตลาดจะมีราคาต่ำกว่าสินค้าในห้างสรรพสินค้า ทำให้ชาวบ้านหรือประชาชนที่มีรายได้จำกัด สามารถเข้าถึงและจับจ่ายได้ตามความสามารถ และได้สินค้าที่มีคุณภาพ สำหรับหลายครอบครัวในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การขายสินค้าในตลาดถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ
ผู้คนต่างกำลังจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดเช้า ณ ตลาดเก่า เมืองยะลา เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
เม๊าะ (คำเรียกผู้หญิงที่อายุเยอะกว่า โดยมีอายุรุ่นย่าหรือยาย) กำลังผูกสะตอเป็นกำ เพื่อง่ายต่อการขาย เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
จากที่ได้ใช้เวลาคิดหัวข้อ “การบ้าน” ที่ต้องลงพื้นที่ถ่ายภาพหลังจากจบการฝึกอบรมที่ผ่านมา ก็ได้ตกผลึกว่าตนเองสนใจวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องตื่นเช้าไปขายของในตลาด ประกอบกับมีตลาดที่ตัวเองผ่านไปมาบ่อยมาก จึงเลือกว่าอยากไปถ่ายรูปที่ตลาดสด ที่ตั้งอยู่ในตลาดเก่า เมืองยะลา ซึ่งเป็นตลาดสดที่ติดกับรางรถไฟ และเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ มีผู้คนเข้าไปจับจ่ายใช้สอยสินค้าจำนวนมาก และมีสินค้าอุปโภคบริโภคที่หลากหลาย
ก๊ะ (คำเรียกผู้หญิงที่อายุมากกว่า หรือหมายความว่า พี่สาว) เดินทางด้วยรถจักรยานยนต์มาที่ตลาดสด ณ ตลาดเก่าเมืองยะลา เพื่อมาจับจ่ายและซื้อสินค้าในตลาด เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
หลังจากที่ได้ลองเข้าไปในตลาดสดดังกล่าวแล้ว สิ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมคือ สัดส่วนของแม่ค้าจะเยอะกว่าพ่อค้าหลายเท่าตัว แทบทุกพื้นที่เราจะเห็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ทั้งคนขายและคนซื้อ เลยตัดสินใจที่ถ่ายภาพผู้หญิงในพื้นที่นี้ ซึ่งเท่าที่ประมาณการทางสายตา อาจมีผู้หญิงมากถึง 90-95% พร้อมทั้งรวบรวมความกล้าเท่าที่มีเข้าไปพูดคุยกับแม่ค้าบางส่วนถึงการใช้ชีวิตในตลาดสดและสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
ห้องละหมาดพร้อมผ้าละหมาดที่ถูกเตรียมไว้ในตลาด เพื่อให้มุสลิม (คนที่นับถือศาสนาอิสลาม) สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างสะดวก เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
มีแม่ค้าท่านหนึ่งกล่าว่า “ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี บางวันก็ขายได้มาก บางวันก็ขายได้น้อย แต่ไม่มีวันไหนที่ขายไม่ได้ ก๊ะมาเปิดร้านตั้งแต่เช้าตรู่ เพราะคนที่มาซื้อของในตลาดนี้ส่วนใหญ่ ก็จะมากันเช้ามาก ก๊ะเลยมาเปิดเช้าๆ จะได้มีลูกค้าเร็วๆ”
ก๊ะ (คำเรียกผู้หญิงที่อายุมากกว่า หรือหมายความว่า พี่สาว) นั่งกินข้าวเช้าระหว่างรอลูกค้ามาซื้อพริก เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
จากที่ได้พูดคุยกับแม่ค้าท่านหนึ่ง เขาเล่าว่า “ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี บางวันก็ขายได้มาก บางวันก็ขายได้น้อย แต่ไม่มีวันไหนที่ขายไม่ได้ ก๊ะมาเปิดร้านตั้งแต่เช้าตรู่ เพราะคนที่มาซื้อของในตลาดนี้ส่วนใหญ่ ก็จะมากันเช้ามาก ก๊ะเลยมาเปิดเช้าๆ จะได้มีลูกค้าเร็วๆ”
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คนส่วนใหญ่คิดว่ามีแค่มุสลิม แต่พื้นที่นี้มีชาวไทยพุทธที่อยู่ร่วมกัน และจะเห็นความหลากหลายมากยิ่งขึ้นในพื้นที่สาธารณะอย่างตลาดเช้าที่ผู้คนจับจ่ายใช้สอยสิ่งอุปโภค บริโภค เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
แม่ค้าบางคนมาละหมาดซุบฮฺ (ละหมาดย่ำรุ่ง เวลา 04.30 น. เป็นต้นไปตามเวลาจันทรคติ) ที่ตลาด อาบน้ำที่ตลาด กินข้าวและทำธุระอื่นๆ ที่ตลาด เหมือนใช้ชีวิตช่วงเช้าในตลาดจนกว่าตลาดจะวาย เก็บของและปิดร้านเพื่อเตรียมกลับบ้าน
ร้านข้าวราดแกงในตลาดเช้า เพื่อให้พ่อค้า แม่ค้าและผู้ซื้อได้มีอาหารเช้ากินระหว่างจับจ่ายซื้อของและระหว่างที่พ่อค้า แม่ค้าขายของกัน เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
นอกจากตลาดเช้าจะเป็นพื้นที่ค้าขายแล้ว ตลาดเช้ายังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูล สังสรรคของคนไทยพุทธในยะลาด้วย เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
มีคนซื้อบวบที่เม๊าะขาย คนซื้อก็จะได้เอาบวบไปทำอาหาร และม๊ะซึ่งเป็นคนขายก็จะได้เงินในการใช้จ่ายอย่างอื่นต่อ เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
นอกจากคนไทย ทั้งชาวมลายูและชาวพุทธ เราจะเห็นคนชาติอื่นๆ มาค้าขายและซื้อของในตลาดเช้าด้วย ในรูป มีชาวเมียนมาที่มาขายหมอนหนุนและเสื่อแบบโบราณในตลาดเช้าด้วย เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
ห้องน้ำสาธารณะในตลาดเช้า ทั้งพ่อค้า แม่ค้าและผู้ซื้อสามารถใช้บริการห้องน้ำสาธารณะนี้ได้ เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
ร้านของม๊ะ ขายของสำหรับทำและปรุงรสอาหาร ซึ่งมีสารพัดอย่างทั้ง หอมแดง กระเทียม เครื่องปรุงซุปสำเร็จรูป และเครื่องปรุงอื่นๆ ม๊ะมักจะขายของด้วยรอยยิ้มเสมอ เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
ราคาของสินค้า ซึ่งราคาจะเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของผู้ซื้อ หรือตามอุปสงค์และิุปทานในทางเศรษฐศาสตร์ กระดาษที่เขียนราคาของสินค้าก็จะถูกเปลี่ยนบ่อยๆ ตามช่วงเวลา เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
ในโซนที่ขายอาหารสด เช่น อาหารทะเล เนื้อ ไก่ บนพื้นมักจะเปียกชื้นเสมอ ดังนั้นผู้ซื้อที่ขี่รถจักรยานยนต์เข้าไปในตลาด จึงต้องระวังเป็นพิเศษในการขับขี่ เพื่อให้ไม่เกิดอุบัติเหตุได้ เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
เราจะมองเห็นความหลากหลายได้ในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ที่ไม่จำกัดให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้สอย แต่เป็นพื้นที่ที่เปิดให้ทุกคนได้ร่วมกันใช้ชีวิต แม้คนนอกจะมองว่าสามจังหวัดเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง แต่ผู้คนทั้งไทยพุทธและมุสลิมก็ยังสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
ใครที่ไม่มีหน้าร้านอย่างเป็นทางการ สามารถใช้พื้นที่ที่ว่างอยู่ตั้งเป็นร้านเพื่อขายของที่ตัวเองนำมา อาจจะเป็นพื้นที่เล็กๆ ระหว่างช่องว่างของรถยนต์ (ตามภาพ) ก็สามารถเป็นพื้นที่ขายของได้ เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
เมื่อเข้าสู่พื้นที่ตลาดเช้า เราสามารถแยกระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายได้ด้วยการสังเกตลักษณะกระเป๋า เพราะผู้ขายมักจะสาพกระเป๋าแบบคาดลำตัว พร้อมกับส่งเสียกเรียกลูกค้าที่ชัดถ้อยชัดคำ เครดิต: ซอบีรีน ยูโซะ
โดย: ซอบีรีน ยูโซะ
รางวัลชมเชย -
ทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่ตั้งของชนเผ่าพื้นเมืองที่เดินเรือหลากหลายกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีทักษะการเดินเรือ การว่ายน้ำ และการตกปลาที่ไม่มีใครเทียบได้ ดำรงอยู่โดยได้โยกย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ เป็นเวลาหลายร้อยปี การเลือกปฏิบัติ การพัฒนา การท่องเที่ยว และการอนุรักษ์ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาได้คุกคามวิถีชีวิตของพวกเขา และบังคับให้หลายคนต้องตั้งถิ่นฐาน แม้ว่าการประมงยังคงมีความสำคัญต่อวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของพวกเขาก็ตาม
เรือที่ชาวเลใช้ในการออกทะเลเพื่อหาปลาและอาหารทะเลอื่นๆ เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
ในประเทศไทย เราเรียกพวกเขาว่าชาวเล คือ กลุ่มคนที่เมื่อนึกถึงแล้ว จะเห็นภาพการใช้ชีวิตติดทะเล การออกเรือหาปลาและอาหารทะเล ทั้งเพื่ออุปโภคบริโภคและเพื่อผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือการค้าขาย และนำเงินที่ได้จากการค้าขายนั้นไปซื้อปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
หลังจากออกเรือไปหาปลาและอาหารทะเล ก็ถึงเวลากลับเข้าฝั่งเพื่อพบหน้าสมาชิกครอบครัว เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
เรื่องราวต่อจากนี้ จะเป็นการเล่าถึงวิถีชีวิตชาวเลในจังหวัดปัตตานี ซึ่งผมได้เจอในระหว่างการสำรวจหัวข้อ “การบ้าน” ที่ผมต้องส่งหลังจากเข้าร่วมการอบรมถ่ายภาพของ MRG ผมได้พบกับบัง (ผู้ชายที่อายุเยอะกว่า) คนหนึ่งที่ผมได้เจอและได้คุยกับเขาคร่าวๆ จากนั้นผมได้ขออนุญาตเขาถ่ายภาพ พร้อมตามติดชีวิตเขา
ภาพชายหาดที่มีคลื่นทะเลซัดน้ำทะเลขึ้นมายังหาดทราย เราสามารถนั่งดูคลื่นเหล่านี้ได้ทั้งวัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องการความสงบ ต้องการเวลาในการใช้ความคิดและตกผลึกบางอย่าง เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
ชาวเลส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และเนื่องด้วยเรือที่ใช้มีขนาดเล็ก การออกเรือแต่ละครั้งจึงไม่สามารถอยู่กลางทะเลเพื่อตกปลาและอาหารทะเลได้มากกว่า 2 คืน ดังนั้น จำนวนปลาหรืออาหารทะเลอื่นๆ ที่จับได้จึงมีปริมาณน้อย พอยังชีพครอบครัวและขายได้บางส่วน ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของชาวเล จึงเป็นสภาพความเป็นอยู่ทั่วไปที่ไม่ได้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่สามารถใช้จ่ายได้อย่างฟุ่มเฟือย แต่ก็ไม่ถึงขั้นขัดสนแต่อย่างใด
เรือประมงพื้นบ้านกำลังลอยออกไปสู่ทะเล เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
แต่เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและสภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออาชีพที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ และแน่นอน ประมงพื้นบ้านที่ชาวเลยึดเป็นอาชีพเลี้ยงปากท้องตนเองและสมาชิกครอบครัว ก็ได้รับผลกระทบจากการความแปรปวนของสภาพอากาศด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ส่งผลต่อการวางแผนออกทำประมง ประกอบกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำที่ลดน้อยลง ทำให้ศักยภาพในการดำรงชีวิตและระดับรายได้ในการประมงของชาวเลลดต่ำลงจากเดิม
เด็กๆ กำลังเล่นกันระหว่างรอพ่อกลับจากออกทะเลไปหาปลา เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
บังเล่าว่า “อาชีพประมงพื้นบ้านที่บังทำอยู่ รายได้ไม่แน่นอน บางวันได้มาก บางวันได้น้อย บางวันก็ไม่ได้เลย เราจึงต้องใช้ชีวิตอย่างประหยัด เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคต (วันพรุ่งนี้) จะมีกินไหม เราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยได้ บางคนเขาทำอาชีพอื่นเพื่อหารายได้เสริม แต่บังเลี้ยงลูกและปากท้องของครอบครัวด้วยอาชีพประมงพื้นบ้านที่บังรัก และจะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าบังจะไม่ไหว”
ในหมู่บ้านที่คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นชาวเล จะมีทีมที่จะออกเรือไปหาปลาในทะเลด้วยกัน ซึ่งเราสองคนมักจะออกเรือด้วยกันบ่อยๆ เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
นอกจากจะออกเรือหาปลาในทะเลแล้ว การจับปลาหรือสัตว์ทะเลอื่นๆ ยังสามารถทำได้ด้วยการทอดแห แต่อาจจะได้สัตว์ทะเลไม่มากเมื่อเทียบกับการออกเรือไปในทะเลลึก เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
แหที่ใช้สำหรับทอดเพื่อจับปลาในวันที่ไม่ได้ออกเรือไปกลางทะเล เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
ชีวิตของลูกหลานชาวเล โดยเฉพาะเด็กๆ ก็จะเล่นกันแถบชายหาดระหว่างที่รอพ่อออกไปจับปลา เด็กๆ จะคุ้นชินกับลมทะเลและหาดทราย เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
ชาวเลบางคนมีจุดออกเรือที่ห่างจากบ้านพอสมควร พวกเขาจะสร้างเพิงเล็กๆ เพื่อให้ภรรยาและลูกได้พักระหว่างที่พวกเขาออกเรือไปหาปลากลางทะเล เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
ชาวเลที่ออกเรือมุ่งหน้าสู่ทะเลอันกว้างใหญ่เพื่อหาปลาและอาหารทะเล เพื่อเอาไปขายและใช้เป็นอาหารในครัวเรือน เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
การทอดแหเพื่อจับสัตว์ทะเล บางครั้งจะได้สิ่งของอย่างอื่นแทน รวมทั้งขยะ จึงอยากรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวหรือผู้คนช่วยกันรักษาความสะอาดเพื่อที่สิ่งแวดล้อมจะได้อยู่กับเราไปนานๆ ไม่ไปทำลายระบบนิเวศและสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
ช่วงเวลาที่ท้องฟ้าเปลี่ยนสีจากสีฟ้าเป็นสีคราม เป็นช่วงเวลาที่สงบที่สุด การเดินเล่นบนชายหาดในช่วงเวลานั้นจะเป็นความสุขของคนหลายๆ คน เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
เด็กในเมืองอาจจะชอบดูรถยนต์ รถจักรยายนต์ แต่เด็กที่เกิดและเติบโตใกล้ชายหาด ยานพาหนะแรกที่เขารู้จักและสนใจคือเรือที่พ่อและลุงๆ ข้างบ้านใช้ในการทำมาหากิน เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
ในวันที่ไม่ได้ออกเรือไปหาปลากลางทะเล ชาวเลก็จะลงทะเลและจับปลาด้วยการทอดแห เผื่อโชคดีได้ปลามาทอดกินในครอบครัว เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
การเป็นชาวเล นอกจากต้องมีทักษะในการขับเรือ ว่ายน้ำ ดูทิศทางลมแล้ว การทอดแหให้สวยและสามารถจับปลาได้จริงนั้น ก็เป็นหนึ่งในทักษะที่ชาวเลทุกคนต้องฝึกฝนให้ชำนาญ เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
บรรยากาศ ณ จุดจอดเรือและจุดออกเรือของชาวเลในปัตตานี เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
ซึมซับบรรยากาศของน้ำทะเล ลมทะเล แม้ว่าผมจะเป็นชาวเลและอยู่กับทะเลตั้งแต่เกิด แต่ผมก็ไม่เคยเบื่อทะเลเลย เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
บนหาดทรายใกล้ทะเล เด็กๆ ก็สามารถมีกิจกรรมหรือการละเล่นต่างๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องก่อทรายเสมอไป เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
ชายหาดหรือหาดทราย เป็นที่พักผ่อนที่ดีและยังเป็นพื้นที่กระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวด้วย แม่และลูกกำลังพักผ่อนและพูดคุยกันระหว่างรอสามี (และพ่อ) กลับมาจากการออกเรือไปกลางทะเล เครดิต: อัฟนัน ลาเต๊ะ
โดย: อัฟนัน
ลาเต๊ะ รางวัลชมเชย
กิจกรรมนี้จัดทำขึ้นโดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Inclusive Peacebuilding in Thailand’s Southern Border Provinces” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป